เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ถูกประทุษร้าย ในคำว่า ภิกษุถูกประทุษร้ายได้ยินคำพูดมากของพวก
สมณะหรือพวกคนพูดมาก อธิบายว่า ถูกประทุษร้าย คือ ถูกด่า ถูกเสียดสี
ถูกเหยียดหยาม ถูกติเตียน ถูกว่าร้าย
คำว่า ของพวกสมณะ ได้แก่ นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ผู้เข้าถึงการบวช
ยินยอมบวชในภายนอกจากศาสนานี้
คำว่า พวกคนพูดมาก ได้แก่ พวกกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดา และมนุษย์
คนเหล่านั้น พึงด่า บริภาษ ติเตียน สาปแช่ง เบียดเบียน ย่ำยี ทำร้าย รุกราน
สั่งฆ่า เข่นฆ่า ทำการเข่นฆ่า ด้วยวาจาที่ไม่พึงปรารถนา ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ
มากมาย ได้ยิน คือ ได้สดับ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดวาจาที่ไม่พึงปรารถนา
ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจมากมาย ของคนพวกนั้น รวมความว่า ภิกษุถูกประทุษร้าย
ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะหรือพวกคนพูดมาก
คำว่า ด้วยคำหยาบ ในคำว่า ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
อธิบายว่า ไม่พึงโต้ตอบ คือ ไม่พึงกล่าวตอบด้วยคำหยาบ ได้แก่ คำกักขฬะ คือ ไม่
พึงด่าตอบผู้ด่า ไม่พึงสาปแช่งตอบผู้สาปแช่ง ไม่พึงขัดเคืองตอบผู้ขัดเคือง ไม่พึงก่อ
การทะเลาะกัน ไม่พึงก่อการบาดหมางกัน ไม่พึงก่อการแก่งแย่งกัน ไม่พึงก่อการ
วิวาทกัน ไม่พึงก่อการมุ่งร้ายกัน ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะ ความขัดเคือง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย พึงเป็น
ผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทะเลาะ การ
บาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาทและการมุ่งร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
รวมความว่า ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
คำว่า ผู้สงบ ในคำว่า เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู อธิบายว่า
ชื่อว่าผู้สงบ เพราะเป็นผู้สงบราคะ
ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโทสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :474 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 14. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโมหะ
ชื่อว่าผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้วเพราะสงบ ระงับ
สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ... อุปนาหะ... อกุสลาภิสังขารทุก
ประเภท รวมความว่า ผู้สงบ
คำว่า เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู อธิบายว่า ผู้สงบย่อมไม่สร้าง คือ ไม่ให้
เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งศัตรู คือ ข้าศึก เสี้ยนหนาม
ฝ่ายตรงข้าม รวมความว่า เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุถูกประทุษร้าย ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะ
หรือพวกคนพูดมาก ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู
[168] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุรู้ธรรมนี้แล้วเลือกสรรอยู่ พึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาทุกเมื่อ รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม
คำว่า นี้ ในคำว่า รู้ธรรมนี้แล้ว ได้แก่ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอก ทรงแสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้ว อธิบายว่า รู้ คือ ทราบ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งธรรม รวมความว่า รู้ธรรม
นี้แล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง รู้ คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง
แล้วซึ่งธรรมทั้งที่เสมอและไม่เสมอ ทั้งที่เป็นทางและมิใช่ทาง ทั้งที่มีโทษและไม่มีโทษ
ทั้งทรามและประณีต ทั้งดำและขาว ทั้งที่วิญญูชนติเตียนและที่วิญญูชนสรรเสริญ
รวมความว่า รู้ธรรมนี้แล้ว อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :475 }